Skip to main content


โครงการปลูกกระเทียมอินทรีย์ เทศบาลตำบลหาดกรวด

28 April 2013

โครงการปลูกกระเทียมอินทรีย์

หลักการและเหตุผล
ตำบลหาดกรวดมีประชากรทั้งสิ้น  2,312  ครัวเรือน  มีประชากรทั้งหมด  7,752  คน  มีจำนวนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจำนวน  1,421  ครัวเรือน  หรือคิดเป็นร้อยละ  61.46  ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด  ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญได้แก่ ข้าว(นาปี,นาปรัง) , ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ , อ้อย ,ยาสูบ , ไม้ผล , ผักชนิดต่างๆ  และการปศุสัตว์  ปัญหาของเกษตรกรตำบลหาดกรวดก็เหมือนกับเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทย  คือ  ราคาผลผลิตทางการเกษตรแปรปรวนไม่มีความแน่นอน  และเกษตรกรถูกปลูกฝังให้พึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า  40  ปี  เช่น  ปุ๋ยเคมี  สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  ทำให้เกิดผลกระทบตามมาคือ  แมลงชนิดอื่นๆ  ที่ไม่ได้เป็นศัตรูเป้าหมายที่มีประโยชน์ถูกทำลาย  เช่น  ตัวห้ำตัวเบียน  แมลงศัตรูพืชสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง  แมลงศัตรูพืชที่ไม่มีความสำคัญกลับมาระบาดเป็นศัตรูพืชสำคัญอีกเช่น  หนอนใยผัก  เพราะตัวห้ำ  ตัวเบียน  เช่นแตนเบียน  มวนพิฆาต  มวนเพชรฆาต  แมลงหางหนีบที่เป็นศัตรูธรรมชาติของหนอนใยผักถูกทำลาย  เพิ่มต้นทุนการผลิตเพราะเกษตรกรใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็นทั้งปริมาณและความถี่ของการใช้  ทำให้เกิดสารตกค้างในพืชผลทางการเกษตรและในน้ำที่ใช้อุปโภคเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์  เกิดภาวะเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน  จากปัญหาดังกล่าวเทศบาลตำบลหาดกรวดได้ริเริ่มแก้ไขจึงได้เกิดโครงการต่างๆ  เช่น  โครงการผลิตสารชีวภัณฑ์เมื่อปีพ.ศ. 2548  เพื่อทดแทนสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ได้ผลอย่างถาวร  ประหยัด  ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค  อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ปราศจากมลพิษของสารเคมีอย่างยั่งยืน  โครงการดังกล่าวส่งผลให้เทศบาลตำบลหาดกรวดได้รับรางวัลนวัตกรรมโดดเด่น  ในการจัดงาน  “นวัตกรรมท้องถิ่นไทย  ครั้งที่  1”  กลุ่มการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้เทศบาลฯ  ได้จัดทำโครงการต่อเนื่องจากโครงการผลิตสารชีวภัณฑ์เช่น โครงการอบรมเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล  เมื่อ 27 มกราคม  2550  โดยวิทยากรจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  มูลนิธิ  Earth  Safe  สวนเกษตรธรรมชาติแม่ปิง  โครงการผลิตข้าวโพดหวานอินทรีย์  โครงการปลูกข้าวอินทรีย์เริ่มดำเนินการส่งเสริมตั้งแต่ปีพ.ศ.2552  มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน  18  ครัวเรือน  จำนวนพื้นที่  69  ไร่  คิดเป็นร้อยละ  1.27  ของครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้  บริษัทสุขขะเฮ้าส์  ปีพ.ศ.2553  มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน  31  ครัวเรือน  จำนวนพื้นที่  335  ไร่  คิดเป็นร้อยละ  2.18 ของครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ปีพ.ศ.2554  มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน  48  ครัวเรือน  จำนวนพื้นที่  575  ไร่  คิดเป็นร้อยละ  3.38  ของครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  และในช่วงฤดูแล้งปี  พ.ศ.2555  เทศบาลฯ  ได้ส่งเสริมให้เกษตรของกลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ในรายที่ทำการเกษตรได้เพียงฤดูเดียว  คือฤดูนาปี  ได้ทำการปลูกกระเทียมอินทรีย์  เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร  และใช้พื้นที่ด้านการเกษตรให้เป็นประโยชน์มากขึ้นและส่งเสริมให้มีการใช้พื้นที่ให้เป็นระบบอินทรีย์ตลอดฤดูกาล

วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้พื้นที่ของเกษตรกรเป็นเกษตรอินทรีย์ตลอดการผลิต
2.เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
3.เพื่อลดภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม

เป้าหมาย
1.พื้นที่ของเกษตรกรเป็นอินทรีย์ตลอดฤดูการผลิต จำนวน 13 ไร่ 3 งาน
2.เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกกระเทียมอินทรีย์ ไร่ละ 30,000 บาท
3.ลดภาวะโลกร้อยอย่างเป็นรูปธรรม

ระยะเวลาดำเนินการ
เดือนธันวาคม 2554 - เดือนเมษายน 2555

วีธีการดำเนินการ
1.ติดต่อด้านการตลาดของกระเทียมอินทรีย์
2.จัดการประชุมกลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อสอบถามการเข้าร่วมปลูกกระเทียมอินทรีย์
3.ติดต่อหาซื้อพันธุ์กระเทียม
4.ดำเนินการปลูกกระเทียมตามวิธีการต่างๆ
5.ดำเนินการตรวจแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมปลูกกระเทียมอินทรีย์
6.จัดการประชุมผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์ในระยะการเก็บเกี่ยว
7.การขนส่งกระเทียมออกสู่ตลาด
8.เปรียบเทียบต้นทุนการทำกระเทียมอินทรีย์และการทำกระเทียมเคมี

งบประมาณ
1.ค่าพันธุ์กระเทียม จำนวน 900 กิโลกรัม 60 บาท / 2            27,000   บาท
2.ค่าใช้จ่ายในการตรวจแปลง                                               3,000   บาท
รวมค่าใช้จ่ายในการปลูกกระเทียมอินทรีย์ 30,000   บาท
(งบประมาณการทำกระเทียมอินทรีย์มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 11 ราย การใช้พันธุ์กระเทียมต้องใช้ 75 กิโลกรัม / ไร่)

ผู้รับผิดชอบโครงการ
1.มหาวิทยาลัยแม่โจ้จังหวัดเชียงใหม่
2.มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
3.กองส่งเสริมการเกษตรเทศบาลตำบลหาดกรวด

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.พื้นที่ของเกษตรกรเป็นอินทรีย์ตลอดฤดูการผลิต
2.เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
3.ลดภาวะโลกร้อนจากการทำเกษตรอินทรีย์และลดการเผาฟาง

วิธีการประเมินผล
1.ผลผลิตกระเทียมอินทรีย์ที่เกษตรกรได้รับต่อไร่
2.คุณภาพพันธุ์กระเทียมที่สามารถเก็บไว้ทำพันธุ์ในปีต่อไป


******************************************************************
งานข้อมูลและสารสนเทศ : สำนักปลัด เทศบาลตำบลหาดกรวด